ที่มาของเพลงสดุดีอัสสัมชัญนั้น พบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 มีเพลงที่ชื่อว่าสดุดีอัสสัมชัญแล้ว ซึ่งแต่งขึ้นในโอกาสสุวรรณสมโภชโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยได้บรรเลงเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปีนั้นเอง แต่หลังจากนั้นก็ไม่พบว่ามีการบรรเลงในโอกาสใดอีก ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 นายธนิต ราชภัณฑารักษ์ (OMAC 9916) ซึ่งได้ศึกษาดนตรีจาก นายโชติ สิงหเสนี (OMAC 8722) ได้แต่งคำร้องเพลงสดุดีอัสสัมชัญขึ้น โดยอาศัยทำนองเพลง Le Defile du Regiment ในหนังสือ Le Livre de Musique ของ Claude Aug? เป็นหนังสือเรียนวิชาดนตรี ซึ่งภราดาหลุยส์ โนบิรอง (เดินทางสู่ประเทศไทยเมื่อ 7 มกราคม พ.ศ. 2450 มรณภาพเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2510 มีฉายาว่า หลุยส์แตร) เป็นผู้สอน และเพลงสดุดีอัสสัมชัญจึงกลายเป็นเพลงประจำสถาบันนับแต่นั้น
มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนชื่อและเนื้อเพลงสดุดีอัสสัมชัญ ในกรณีที่ใช้ในสถาบันอื่นๆ นอกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ คือการเติมเครื่องหมายไปยาลน้อย (ฯ) หลังคำว่าอัสสัมชัญ ทั้งชื่อและเนื้อเพลง
แม้ว่าเพลงสดุดีอัสสัมชัญ จะเป็นเสมือนเพลงหลักของโรงเรียนในคณะภราดาเซนต์คาเบรียลไปแล้วก็ตาม หากแต่ยังคงเป็นเพลงที่มีความสำคัญต่อนักเรียน รวมถึงผู้มี "สายเลือดอัสสัมชัญ" ทุกคน ทำหน้าที่เป็นดังสายใยเชื่อมโยงพี่น้อง แม้ต่างสถาบัน หากแต่ความเป็นอัสสัมชัญนั้นคือความเป็นหนึ่งเดียว ที่จะถูกรื้อฟื้นทุกครั้ง ที่เสียงเพลงสดุดีอัสสัมชัญได้ยิน และถูกเปล่งออกมาอย่างพร้อมเพรียง
"อัสสัมชัญจงมาพร้อมใจกันเถิด มาชูเชิด AC ไว้ชั่วดินฟ้า"
เนื้อร้อง เพลงสดุดีอัสสัมชัญ
(*) ชื่ออัสสัมชัญนั้นเด่นมาช้านาน ยังมีพยานปรากฏรับรอง ไม่เคยมีใครลบเกียรติอัสสัมชัญ เราต้องช่วยกันคอยประคับประคอง เพื่อมิให้ลายขาวและแดงของเราเศร้าและหมอง คงผ่องใสสะอาดตา คอยพยุงชื่อ ถือเกียรติศักดิ์อัสสัมชัญไว้ทุกวันเวลา พวกเรามาเถิดมาร่วมจิตพร้อมกัน เป็นเอกฉันท์เพื่อช่วยอวยพร ให้อัสสัมชัญนั้นชื่อคงถาวรฟุ้งเฟื่องขจรไว้ชั่วนิรันดร์ ฮะ ฮะ ฮะ ฮะ
(**) อัสสัมชัญ โห่ให้ลั่นเพื่ออวยชัยให้ เอซี นามที่เรารักและทูนเทิด อัสสัมชัญ จงมาพร้อมใจกันเถิด มาชูเชิด เอซี ไว้ชั่วดินฟ้า (ซ้ำ (*)/(**))